ทำตู้ Built-in เลือกใช้ไม้อะไรดี ?
ในปัจจุบันวัสดุไม้ที่สามารถนำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ในส่วนของตู้บิ้วท์อินนั้น มีหลากหลายให้เลือกใช้กัน และ ไม้แต่ละประเภทก็จะมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน วันนี้จะมาแนะวัสดุไม้ที่ใช้ในการทำตู้บิ้วท์อิน ให้กับทุกท่านได้ทราบกัน โดยไม้ที่นิยมใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ ในส่วนของตู้บิ้วท์อินนั้น จะนิยมใช้อยู่ 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
MDF
MDF คือวัสดุไม้ที่มีลักษณะเป็นเศษใยไม้แล้วนำมาอัดให้เป็นแผ่นตามขนาดที่กำหนด ซึ่งจะให้เนื้อสัมผัสที่เรียบเนียน แน่น และมีน้ำหนักเบา
ความเหมาสมในการใช้งาน : ไม้ MDF จะเหมาะกับการนำมาใช้ในส่วนของโครงสร้างประเภทตู้ลอยต่างๆ เนื่องจากไม้ MDF เป็นวัสดุไม้ที่น้ำหนักเบา แต่จะมีความแข็งแรงของเนื้อไม้ค่อนข้างต่ำ จึงไม่เหมาะในการนำไปใช้ในส่วนของโครงสร้างตู้บิ้วอินประเภทเคาน์เตอร์ได้ เพราะจะรับน้ำหนักไม่ไหวและไม่แนะนำกับงานตู้บิ้วท์อิน ที่ต้องโดนในเรื่องของความชื้น ความร้อน หรือต้องโดนน้ำเป็นอันขาด
HMR
HMR คือวัสดุไม้ที่มีลักษณะเดียวกับไม้ MDF ซึ่งเป็นเศษใยไม้นำมาอัดเป็นแผ่นลักษณะเดียวกัน แต่จะเพิ่มในส่วนของสารเคลือบกันความชื้นเข้าไปด้วย ทำให้ตัวเนื้อไม้มีสีเขียวแก่ ให้มีความแข็งแกร่งและเพิ่มการกันความชื้นและความความร้อนให้ดีมากยิ่งขึ้น
ความเหมาะสมในการใช้งาน : ไม้ HMR จะเหมาะกับงานโครงตู้บิ้วอินประเภท ตู้ลอยและตู้เคาน์เตอร์ขนาดไม่ใหญ่มาก รวมไปถึงหน้าบานและชั้นวางของตกแต่งต่างๆ ด้วยความที่ ไม้ HMR จะมีสารเคลือบกันความชื้นเพิ่มขึ้นมา จึงสามารถนำไปใช้ในงานได้หลากหลายมากกว่าไม้ MDF ซึ่งจะสามารถใช้ได้ทั้งพื้นที่ที่โดน ความชื้น, ความร้อน อย่าง ห้องครัว หรือห้องน้ำ ได้นั้นเอง
Viva Board
Viva Board คือวัสดุไม้ที่มีส่วนผสมของไม้และปูนซีเมนต์ แล้วนำไปเข้าเครื่องอัดแรงดันสูงจนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจะมีจุดเด่นในเรื่องของความแข็งแรง กันน้ำกันปลวก กันความร้อน ความชื้น รวมไปถึงกันลามไฟได้อีกด้วย แต่มีข้อเสียก็คือน้ำหนัก
ความเหมาะสมในการใช้งาน : Viva Board จะเหมาะกับการนำไปใช้ในส่วนของตู้บิ้วท์อินประเภท ตู้จัดเก็บขนาดใหญ่ ตู้เคาน์เตอร์ต่างๆ ด้วยความที่ วีว่าบอร์ด มีส่วนผสมของไม้และปูนซีเมนต์ จึงทำให้มีน้ำหนักที่ค่อนข้างสูง จึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้ในส่วนของตู้แขวน เพราะตัวยึดจะรับน้ำหนักไม่ไหว
Plaswood
Plaswood คือวัสดุประเภท PVC ชนิดแข็ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัสดุทางเลือก ใช้ทดแทนไม้จริง Plaswood จะมีจุดเด่นในเรื่องของความยืดหยุ่น กันน้ำกันปลวกแบบ 100% เหมือนกับวัสดุ Viva Board แต่จะมีข้อดีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่างก็คือในเรื่องของน้ำหนัก ที่มีน้ำหนักเบากว่า Viva Board และ HMR เป็นอย่างมาก
ความเหมาะสมในการใช้งาน : Plaswood เป็นวัสดุชนิดเดียวที่สามารถนำไปใช้ในงานตู้บิ้วท์อินได้ทุกประเภทและด้วยความที่มีคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งเท่ากับวีว่าบอร์ด แต่มีน้ำหนักที่เบากว่าวีว่าบอร์ดด้วยแล้วนั้น วัสดุ Plaswood จึงได้รับความนิยมในการเลือกนำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ เป็นอย่างมากในปัจจุบันเลยล่ะครับ
ควรเลือกวัสดุพื้นผิวแบบไหนในการ Built-in
การผลิตวัสดุสำหรับตกแต่งพื้นผิวที่ทั้งสวยงาม มีความทนทาน และหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ทุกท่านได้มีทางเลือกในการตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น สามารถเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานได้มากที่สุด
แผ่นไม้จริง
ข้อดีของมันก็คือจะเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทานมากกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ มีผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ เพราะเป็นไม้ที่มาจากต้นไม้จริง และยังมีลายไม้ที่สวยเป็นเอกลักษณ์ตามธรรมชาติทั่วทั้งแผ่น แต่วัสดุที่ผลิตจากไม้นั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง เนื้อไม้ยิ่งหนาก็ยิ่งมีราคาสูง
แผ่นไม้บาง หรือ วีเนียร์ (Veneer)
วีเนียร์ คือวัสดุที่เป็นแผ่นไม้ที่มีความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร มีกระบวนการผลิตมาจากการฝานผิวของเนื้อไม้ออกเป็นแผ่นลักษณะบางๆ แล้วนำไปอบและรีดให้เรียบเป็นแผ่น ซึ่งเป็นวัสดุตกแต่งแบบบิ้วท์อินที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ตามธรรมชาติ
วัสดุผิวลามิเนต
แผ่นลามิเนต เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาเลียนแบบให้ใกล้เคียงผิวไม้จริง ด้วยการพิมพ์ลวดลายให้คล้ายคลึงกับไม้ธรรมชาติ หากมองด้วยตาเปล่าแบบผ่านๆก็อาจจะยังแยกไม่ออก ลามิเนตมีพื้นผิวที่ทำความสะอาดได้ง่ายกว่าพื้นผิวไม้จริง อายุการใช้งานนานกว่า มีราคาถูกกว่า และมีสีสันให้เลือกได้มากกว่า เหมาะสำหรับคนที่ชอบงานไม้ที่มีสีสม่ำเสมอกันทั่วทั้งบ้าน
วัสดุผิวเมลามีน
เป็นวัสดุที่มีกระบวนการผลิตโดยการนำเอากระดาษหลายๆชั้นมาบีบอัดให้แน่น จากนั้นนำมาเคลือบเงาและพิมพ์ลวดลายเลียนสีตามธรรมชาติของผิวไม้หรือสีของพื้นผิวอื่นๆ คุณสมบัติของวัสดุผิวเมลามีนคือทนความร้อนและความชื้นได้ดี ไม่เป็นรอยขีดข่วนง่ายและมีอายุการใช้งานนาน
วัสดุผิวพีวีซี
วัสดุผิวพีวีซีนั้นผลิตจากพลาสติก โดยผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นแผ่นและนำมาพิมพ์ลวดลายให้ใกล้เคียงกับผิวไม้ธรรมชาติ โดยปกติผิวของวัสดุพีวีซีจะไม่ได้หนามาก แต่จะมีความเหนียวและทนทาน ใช้สำหรับการติดทับเพื่อปิดผิวไม้ ช่วยลดแรงกระแทกและป้องกันรอยขีดข่วน ทนความร้อนและความชื้นได้ดี
วัสดุที่นิยมนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ Built-in
การ built-in ตกแต่งภายใน ถือว่าเป็นการตกแต่งยอดนิยม ที่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังคงต้องนึกถึงความจำเป็นในการใช้งานอีกด้วย ดังนั้นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตก็มีหน้าที่และความเหมาะสมเฉพาะตัวอยู่แล้ว วันนี้จึงมีตัวอย่างของวัสดุแต่ละประเภทมาแนะนำ ว่าเหมาะสมกับการใช้งานแบบไหนสำหรับคุณ
Particle Board
- แผ่นไม้มีสีและลายที่สม่ำเสมอ
- แผ่นไม้มีความแข็งแรง คงทน ไม่ยืดหดตัวตามสภาพอากาศ
- ส่วนใหญ่แผ่นไม้ประเภทนี้จะผลิตเป็นขนาดใหญ่ ทำให้มีพบรอยต่อบนไม้เลย
- แผ่น Particle Board มีขนาดที่หลากหลายเลือกใช้ตั้งแต่ 16-25 มม.
- Particle Board ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย
Medium Density Fiberboard
- แผ่นไม้มีความหนาแน่นสูงกว่าแผ่นไม้อัด Particle Board
- แผ่นไม้มีความแข็งแรงมาก สามารถรับน้ำหนักได้ดี
- แผ่นไม้ประเภทนี้มีความเรียบเนียน และความเรียบเนียนนี้ค่อนข้างสม่ำเสมอทั้งแผ่น
- ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนสไตล์เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน ก็สามารถทาสีหรือพ่นสีไปที่เนื้อไม้นี้ได้
- แผ่นไม้อัดประเภทนี้ทนน้ำได้ดีกว่า Particle Board
Plywood
- ช่วยป้องกันปลวก หรือแมลงจำพวกเนื้อไม้ได้อย่างดี
- สามารถทนความชื้น
- ผิวไม้เรียบเนียน มีความสวยงาม
- ลักษณะไม้อัดมีคุณภาพ มีความแข็งแรง ทนทาน
- ป้องกันน้ำได้ดี
Wood
- มีความแข็งแรง ทนทาน
- มีลวดลายเนื้อไม้ที่สวยงาม มีความเป็นธรรมชาติ
- สามารถถ่ายเทความร้อนได้รวดเร็ว
- สัมผัสไม้อัดที่นุ่มนวล
การเลือกใช้วัสดุต่างๆ ในการทำเฟอร์นิเจอร์ built-in จำเป็นจะต้องเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งาน ก่อนตัดสินใจทุกครั้ง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เพราะถ้าหากนำมาติดตั้งในการใช้งานที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การใช้งานเกิดประโยชน์ได้มากที่สุด
รู้จักโครงไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ Built-in
การนำไม้จริงขนาดใหญ่มาทำงานเฟอร์นิเจอร์เหมือนในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันไม้จริงนั้นหาได้ยากและมีราคาสูง จึงมีการนำเอาไม้จริงขนาดเล็กๆมาทำเป็นโครงสร้างและเป็นส่วนประกอบต่างๆในการงาน วันนี้เรามาทำความรู้จักโครงไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ Built-in กัน
ไม้โครงที่ใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน มีหลายรูปแบบดังนี้
- โครงไม้เส้นเดียว
เป็นโครงไม้จริงเส้นเดียว ราคาแพง เนื่องจากหาไม้ขนาดยาวได้ยาก ข้อเสียคือตัวโครงที่บิดเบี้ยวทำได้ยากในการใช้งาน
- ไม้จ๊อยส์หรือไม้ต่อกัน
เป็นการนำเอาชิ้นไม้ขนาดสั้นๆมาต่อกัน ไม้แต่ละชิ้นที่นำมาต่อกันจะถูกทำให้เป็นซี่ๆ เหมือนฟันเลื่อยและเชื่อมต่อกันด้วยกาว โครงที่ได้ราคาถูกกว่าโครงไม้เส้นเดียว ข้อดีคือไม้ไม่บิดเบี้ยวหมือนโครงไม้จริงเส้นเดียว
โครงไม้จ๊อยส์ประเภทต่างๆ
- ฟิงเกอร์จ๊อยส์
การต่อไม้โครงที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน หรืองานตกแต่งภายในเป็นกระบวนการเพิ่มความยาวของไม้ การเชื่อมต่อชิ้นไม้แต่ละชิ้นนั้นใช้กาวเป็นตัวประสาน การต่อไม้จะไม่แข็งแรงเนื่องจากชิ้นไม้จะมีการดูดซึมเข้าไปก่อนที่กาวจะเซ็ทตัว เพื่อให้เกิดความแข็งแรง จึงต้องทากาวให้สัมผัสกับด้านข้างของเนื้อไม้ จึงป็นเหตุผลในการทำหัวไม้ในลักษณะฟันปลาเพื่อให้กาวสัมผัสหน้าไม้ที่ไม่ใช่หัวไม้แทน
- บัทจ๊อยส์
รอยฟันปลาจะอยู่ที่ด้านความหนาของโครงไม้แทนด้านกว้าง การต่อไม้แบบนี้จะทำให้แผ่นเศษไม้ที่ต่อกันแล้วมีหน้ากว้างมาก ดังนั้นการใช้งานไม้ที่ต่อแบบบัทจ๊อยส์ จึงเป็นการนำเอาเนื้อไม้ที่ต่อกันเป็นหน้ากว้างมาทำเป็นแผ่นชั้นวางของ
โครงไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นไม้โครงงานเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน
- ไม้สักสวนป่าจ๊อยส์
เนื้อไม้ไม่แข็ง ใช้ทำงานง่าย ไม่บิดตัว ค่อนข้างเป็นเส้นตรง เนื่องจากอายุของไม้มีน้อย และมีกระพี้ติดมามาก ยางจึงมีไม่มากพอ จึงไม่สามารถป้องกันปลวกได้
- ไม้สักจ๊อยส์พม่า
เนื้อไม้นิ่มทำงานง่าย เป็นเส้นตรงไม่บิดตัว ป้องกันปลวกได้ดีกว่าไม้สักสวนป่าที่ราคาค่อนข้างสูง
- ไม้แดงจ๊อยส์
เนื้อไม้แข็ง ป้องกันปลวกได้ดี ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะราคาค่อนข้างสูง
- ตะแบกจ๊อยส์
สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เป็นไม้เนื้อแข็ง ตรงไม่บิดตัว แข็ง ปลวกไม่ชอบ มีสีและความสวยงามใกล้ไม้สัก แต่ถ้าโดนความร้อนหรือความชื้น ก็จะโกร่งตัวได้ง่าย
- ตะเคียน
เป็นไม้เนื้อแข็ง สีออกเหลืองทองไม่บิดงอง่าย ยึดเกาะตะปูดี ทำงานยาก เนื้อไม้มีตำหนิคล้ายรูมอดซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติ ไม่มีผลต่อความแข็งแรง
- ไม้เบญพรรณจ๊อยส์
สีเหลืองอ่อนถึงน้ำตาลแดง เป็นไม้เนื้อผสมอ่อนและแข็ง มีลักษณะตรง ไม่บิดตัว รับแรงได้ดีหนักแน่นมั่นคง ส่วนใหญ่ใช้ในงานไม้แบบก่อสร้างมากกว่าจะใช้ในงานตกแต่งภายใน
- ทุเรียนจ๊อยส์
ไม้เนื้ออ่อน การเกาะยึดเกลียวปล่อยหรือตะปูไม่ดี ป้องกันปลวกไม่ได้ ราคาถูก งานที่ได้มีคุณภาพต่ำ
- ยางพาราจ๊อยส์
เป็นไม้โตเร็วหาได้ง่าย ราคาถูก การทำงานง่าย มีการบิดตัวง่าย ในเนื้อไม้มีสารที่เป็นอาหารของปลวกและเชื้อรา งานที่ได้มักมีอายุการใช้งานสั้น
- สยาแดง
เป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่บิดตัว เนื้ออ่อน เบาแต่ไม่เปราะ ทำงานง่าย เนื้ออ่อนเบา การยึดเกาะไม่ดี ราคาถูก เหมาะกับงานที่ต้องการความประหยัด แต่คุณภาพและความแข็งแรงทนทาน
ข้อดี-ข้อเสีย Built-in ด้วยตนเอง VS มืออาชีพ
การ Built-in สมัยนี้คุณสามารถที่จะทำด้วยตัวเองได้หรือจ้างช่างมืออาชีพก็ได้ วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการบิ้วด้วยตัวเองและการบิ้วอินจากช่างมืออาชีพ วิธีไหนเป็นวิธีดีที่สุดและเหมาะสมสำหรับคุณ วันนี้เราจะมาสรุปให้คุณฟังง่ายๆ กัน
ข้อดี Built-in ด้วยตัวเอง
- ช่วยประหยัดต้นทุน หากคุณคำนึงถึงความประหยัด แน่นอนว่าการบิ้วท์อินด้วยตัวเองถูกกว่าไปจ้างช่างแน่นอน ถ้าคุณมีความสามารถ ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นช่างมาก่อนก็ไม่จำเป็นต้องจ้างช่างเลย
- ช่วยให้คุณมีความรู้มากขึ้น การที่คุณลงมือทำเอง คุณจะต้องเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ทำให้คุณพัฒนาและเสริมความรู้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
- ผลงานการบิ้วท์อินของคุณตรงตามสิ่งที่คุณต้องการ การที่เราจ้างช่างอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน บางทีสิ่งที่เราต้องการกับสิ่งที่ช่างเข้าใจอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉนั้นการบิ้วท์อินด้วยตนเองจะทำให้ตรงตามความต้องการเราที่สุดแล้ว
ข้อเสีย Built-in ด้วยตัวเอง
- หากไม่มีประสบการณ์และความรู้ การบิ้วท์อินจะประสบความสำเร็จนั้นค่อนข้างยาก อาจทำให้คุณเสียทรัพย์สินมากมาย เกิดอันตรายต่อตัวคุณได้ และอาจจะได้ผลงานที่คุณภาพแย่อีกด้วย ดังนั้นหากไม่มีประสบการณ์ แนะนำให้จ้างช่างจะดีกว่า
- หากต้องการผลงานที่มีคุณภาพ ช่างมืออาชีพเกี่ยวกับการบิ้วท์อินจะมีเครื่องมือและเทคนิคต่างๆในการสร้างผลงานที่ดีกว่า เพราะการบิ้วท์อินด้วยตัวเองมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้
ข้อดี Built-in จากช่างมืออาชีพ
- ได้ผลงานการบิ้วท์อินที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม แน่นอนว่าช่างมืออาชีพนั้นมีประสบการณ์และความเข้าใจ หากคุณอยากได้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพ แข็งแรง ทนทาน การเลือกช่างมืออาชีพถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการบิ้วท์อิน
- ประหยัดเวลา การจ้างช่างบิ้วท์อินช่วยลดระยะเวลาและช่วยให้ได้ผลงานออกมารวดเร็วมากขึ้น สำหรับคนที่ต้องการงานรวดเร็วทันใจ
- สามารถออกแบบงานเองได้ ช่างมืออาชีพนั้นมีความรู้และความเข้าใจดี ทำให้คุณสามารถออกแบบงานได้อย่างอิสระ
ข้อเสีย Built-in จากช่างมืออาชีพ
- ราคาที่แพง การบิ้วท์อินสมัยนี้เป็นที่นิยมเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลต่อราคาและค่าแรงที่เพิ่มสูงตามไปด้วย ยิ่งถ้าคุณต้องการงานที่เร่งด่วนรวดเร็วมีคุณภาพ ราคาก็จะยิ่งสูงมากขึ้น
- บริการซ่อมแซมหรือรับประกัน บางบริษัทอาจจะไม่มีบริการหลังบิ้วท์อิน เมื่อการบิ้วท์อินของคุณเกิดปัญหาหรือเสียหายขึ้นมา ทางบริษัทบิ้วท์อินจะไม่มีการรับประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงมากถ้าคุณไม่เลือกบริษัทบิ้วท์อินที่ไม่มีคุณภาพ
แนวคิดในการ Built-in ห้องนอน มีอะไรบ้าง?
ห้องนอน กลายเป็นห้องสำคัญที่สุดภายในบ้าน เพราะห้องนอนเป็นห้องเดียวที่ส่วนใหญ่เราจะใช้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการพักผ่อน ดังนั้นการตกแต่ง Built-in จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เราจึงขอนำเสนอแนวคิดในการ Built-in ห้องนอน ว่ามีอะไรบ้าง?
เลือกตำแหน่งการวางเตียงนอน
หากต้องการวางเตียงขนาดใหญ่ ควรวางไว้กลางห้องนอนโดยให้หัวเตียงชิดกับผนังห้อง หากเป็นเตียงขนาดเล็ก ให้วางชิดมุมห้อง เพื่อเหลือพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น หากเราเลือกเตียงที่บิ้วท์อินขึ้นมา แนะนำควรเป็นเตียงนอนที่ลอยตัวขึ้นมาและชั้นล่างเตียงให้เป็นลิ้นชักเก็บของหรือชั้นวางของ เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้สอย หรืออาจจะเลือกเตียงที่สามารถพับเก็บและยกชิดเข้าผนังได้ ค่อยดึงออกมาใช้เฉพาะเวลานอนเท่านั้น
เลือกโทนสีให้ห้องนอน
ห้องนอนขนาดเล็กควรใช้สีโทนสว่าง เพื่อให้ห้องดูมีพื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นโทนสีที่เหมาะกับห้องนอนสไตล์ญี่ปุ่น หากชอบสไตล์โมเดิร์นหรือสไตล์มินิมอล ให้เลือกใช้โทนสีอ่อน เช่น สีเทา สีควันบุหรี่ ก็ได้เช่นกัน
พื้นที่สำหรับเก็บของ – โชว์ของในห้องนอน
ถ้าห้องขนาดเล็ก แค่เราบิ้วท์อินให้ตู้หรือชั้นเก็บของติดผนัง มีบานเลื่อนเปิด-ปิด เพื่อบังสิ่งที่รบกวนสายตา ช่วยให้ห้องนอนดูสะอาดและเป็นระเบียบ แต่ควรคิดเผื่อการทำความสะอาดด้วย เพราะการทำความสะอาดจะยากและอาจจะกลายเป็นพื้นที่เก็บฝุ่นอย่างดีเลยทีเดียว
ประตู – หน้าต่างในห้องนอน
การบิวท์อินห้องนอนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นประตูหรือหน้าต่างควรเลือกเป็นบานเลื่อน จะช่วยลดพื้นที่เปิด-ปิดได้มากเลยทีเดียว รวมไปถึงเฟร์นิเจอร์ก็ควรเป็นบานเลื่อนให้หมดด้วยเช่นกัน
การแบ่งส่วนต่างๆ ภายในห้องนอน
อย่าแบ่งโดยใช้ผนังกั้นเพราะจะยิ่งทำให้ห้องดูเล็กลงไปอีก ควรเปลี่ยนเป็นฉากกั้นหรือใช้ชั้นวางของเป็นตัวแบ่ง ก็จะสามารถทำให้ห้องนอนเป็นสัดส่วนได้โดยไม่ดูอึดอัด
เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน
ห้องนอนที่มีขนาดเล็ก การบิ้วท์อินควรคิดเสมอว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ ต้องใช้งานได้มากกว่าหนึ่งอย่าง หรืออาจเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชั่นที่สามารถใช้เก็บของได้เยอะ เพียงเท่านี้ก็สามารถประหยัดพื้นที่ใช้สอยในห้องได้มากขึ้น
เพิ่มกระจกสะท้อนให้ห้องดูกว้างขึ้น
ห้องนอนขนาดเล็ก เราสามารถเพิ่มกระจกสะท้อน ทำให้ห้องดูกว้างขึ้นและช่วยให้ห้องมีหลายมิติมากขึ้น โดยกระจกควรเลือกเป็นกระจกที่ติดผนังหรือติดกับประตูบานเลื่อนตู้เสื้อผ้าก็ได้
สิ่งของที่ใช้ตกแต่งสวยงามในห้องนอน
อาจใช้เป็นภาพสวยๆ โมเดลที่เราชอบ หรือกระถางต้นไม้ฟอกอากาศ ไว้สักมุมของห้อง เพื่อทำให้ห้องมีจุดพักสายตาและดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
รู้ก่อนตัดสินใจทำเฟอร์นิเจอร์ Built-in
เฟอร์นิเจอร์ Built-In เป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทหนึ่งที่มีการออกแบบให้สัมพันธ์กับพื้นที่ ที่จะติดตั้ง จะเป็นการทำเฟอร์นิเจอร์ขึ้นที่หน้างานหรือทำขึ้นจากโรงงานแล้วนำมาประกอบที่หน้างานก็ได้ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ลักษณะนี้จะเป็นการติดตั้งที่ติดแล้วติดเลย หากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนย้าย จะต้องทำการรื้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งข้อหนักใจสำหรับใครที่อยากจะเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน เรามาดูกันว่า..ข้อดี-ข้อเสีย ของการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน เผื่อใครจะได้นำไอเดียไปประกอบก่อนการตัดสินใจทำ
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ Built-In
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินได้รับการออกแบบโดยมีการคำนวณพื้นที่ก่อนการติดตั้ง จึงทำให้เฟอร์นิเจอร์ที่จะติดตั้งนั้นมีความพอดีกับพื้นที่
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินจะช่วยให้ห้องของคุณเป็นสัดส่วน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เพราะเฟอร์นิเจอร์มีการวัดขนาดพื้นที่ก่อนการติดตั้ง ทำให้ห้องดูมีความเรียบร้อยมากขึ้น
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินสามรถดัดแปลงการออกแบบได้ ตามรูปแบบ สไตล์ รวมถึงฟังก์ชั่นใช้งานตามความต้องการของผู้อาศัย
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินมีความแข็งแรงทนทาน โครงสร้างของห้องไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือผนังสามารถใช้ประโยชน์ได้ได้อย่างคุ้มค่า
- มีฟังก์ชันครบตอบโจทย์การใช้งาน เพราะในการทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินสามารถเพิ่มฟังก์ชันต่างๆให้กับเฟอร์นิเจอร์ได้ ไปจนถึงการออกแบบมาเพื่อจัดเก็บสิ่งของต่างๆ ทำให้ง่ายและตรงตามความชอบของเรามากที่สุด
ข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์ Built-In
- ประเด็นแรกคือเรื่องของราคา เพราะเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินจะมีราคาต้นทุนที่ค่อนข้างสูง คิดรวมกับค่าออกแบบ การคำนวณวัดพื้นที่ ขนาดของเฟอร์นิเจอร์ จุดที่จะติดตั้ง ตลอดไปจนถึงค่าจ้างช่างผู้ติดตั้ง และการเลือกใช้วัสดุบิวท์อิน
- งานเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินจะเป็นการเหมาทำทั้งห้องมากกว่ารับทำเป็นชิ้นหรือบางจุด ทำให้มีราคาที่สูง
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงทำให้การรื้อถอนนั้นมีความลำบากและไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ จะต้องมีการจ้างช่างเพื่อทำงานรื้อถอนเท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะกับใครที่ชอบเปลี่ยนสไตล์บ่อยๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคงเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังคิดอยู่ว่าจะติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินว่าดีหรือไม่ หากต้องการจะบิวท์อินแนะนำให้เลือกโรงงานเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินที่ได้มาตรฐานอย่าง Gent Decor – โรงงานรับผลิต ออกแบบ และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ราคาโรงงาน เพราะคงไม่มีใครอยากจะซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ในบ้านอยู่บ่อยๆ